ประเพณีวันตรุษจีน - ประเพณีวันตรุษจีน นิยาย ประเพณีวันตรุษจีน : Dek-D.com - Writer

    ประเพณีวันตรุษจีน

    เค้าทำอะไรกันบ้างในช่วงวันตรุษจีน

    ผู้เข้าชมรวม

    407

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    2

    ผู้เข้าชมรวม


    407

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  13 ก.พ. 53 / 18:39 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      ตรุษจีน
       
      ด้วยมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับการเกษตรกรรมซึ่งดินฟ้าอากาศ และฤดูกาลเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้บรรพชนจีนประดิษฐ์คิดค้นปฏิทินขึ้น เพื่อใช้กำหนดวันเวลาเหมาะสมในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว การสังเกตอย่างชาญฉลาดทำให้การโคจรของดวงดาวทั้งหลายมีอิทธิพลต่อการกำหนดวันเดือนปี ผู้คนเฝ้าดูวันคืนที่เวียนวนผันผ่านไม่สิ้นสุดจากปีเก่าสู่ปีใหม่อันน่ายินดี ควรแก่การเฉลิมฉลอง
      ตรุษ แปลว่า สิ้นปี ดังนั้นเทศกาลตรุษจีนจึงเป็นเทศกาลที่มีขึ้นเพื่อฉลองการสิ้นสุดของปีเก่าและการเริ่มต้นของปีใหม่ ถือกันว่าเป็นการเฉลิมฉลองที่สามารถรอดพ้นจากเรื่องไม่ดีของปีเก่ามาพบปีใหม่ที่สุขสันต์ได้ชาวจีนเรียกเทศกาลนี้อีกอย่างหนึ่งว่า เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ( ชุนเจี๋ย) หรือ ขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ (หนองลี่ซินเหนีย)และเชื่อกันว่าช่วงเวลานี้เทพเจ้าจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ฉะนั้นจึงควรสักการบูชาท่านเพื่อความเป็นสิริมงคล
       
      การไหว้ตรุษจีนมีประวัติยาวนานย้อนหลังกลับไปถึงสมัยราชวงศ์โจว เมื่อกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วแต่เดิมมีการไหว้กันยาวนานถึง ๑๕ วัน แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป ธรรมเนียมการไหว้ตรุษจีน จึงลดลงเหลือเพียง  ๓ วัน ดังนี้
      วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหาร ผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือ ตี่จู่เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้ว ถ้าเราเดินเข้าไปในบ้านหรือร้านค้าของจีน คงเคยเห็นศาลเจ้าเล็กๆสีแดงสด ศิลปะจีน วางอยู่บนพื้น ข้างหน้าศาลวางเครื่องบูชา นั่นคือศาลตี่จู่เอี๊ยหรือเจ้าที่นั่นเอง ธรรมเนียมการนับถือตี่จู่เอี๊ยนี้คล้ายกับการนับถือพระภูมิเจ้าที่ของคนไทยนั่นเอง
       
      ในสมัยโบราณจะมีการเซ่นไหว้เทพเจ้าเตาในวันนี้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีพระคุณที่หุงข้าวต้มปลาให้เราได้กินตลอดมา และเชื่อว่าเทพเจ้าเตาจะนำบันทึกความดีความชั่วที่เราทำมาตลอดปีขึ้นไปให้เทพเจ้าบนสวรรค์ตรวจสอบจึงต้องมีการเลี้ยงส่งท่าน นัยว่าเอาใจท่านนั่นเอง
      รุ่งขึ้นคือ วันสิ้นปี จะมีการไหว้ 3 ครั้ง ตอนเช้ามืดจะไหว้ ไป๊เล่าเอี๊ย เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์ 3 อย่าง (ซาแซ ได้แก่ หมูสามชั้นต้ม ไก่ เป็ด ปรับเปลี่ยนเป็นชนิดอื่นได้ หรือมากกว่านั้นได้จนเป็นเนื้อสัตว์ห้าชนิด) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
       
      ตอนสาย จะไหว้ไป๊เป้บ๊อ คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเพื่อความเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว
      ตอนบ่าย จะไหว้ ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และผีไม่มีญาติ เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเป็นสิริมงคล
       
      วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี เรียกว่าวันชิวอิด วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ ไป๊เจีย คือ การไปไหว้ขอพรและอวยพรญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "กา" ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำโชคดีไปให้  เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือเพราะเป็นวันที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ จะถือเคล็ดบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่จับไม้กวาด เชื่อกันว่าเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย ซึ่งเป็นเทพแห่งโชคลาภ จะเสด็จลงมาบนโลก จึงต้องตั้งเครื่องไหว้รับท่าน มีเกร็ดว่าเทพองค์นี้จะเสด็จมาในเวลาและทิศทางต่างๆกันไปในแต่ละปี จึงต้องมีซินแสคอยบอกเพื่อให้ผู้ไหว้ตั้งโต๊ะและหันหน้าไหว้ท่านได้ถูกทิศ เอกลักษณ์ของเทศกาลตรุษจีนอยู่ที่เคล็ดลางที่ทุกอย่างมักมีความหมายเป็นมงคล อย่างแรกต้องนึกถึงอาหารคาวหวานที่คัดสรรมาอย่างดีเพื่อใช้ไหว้เจ้า บางคนสงสัยว่าทำไมเหมือนกันทุกปี นั่นเป็นเพราะว่า อาหารเหล่านี้มีความหมายอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น กล่าวคือ
       
      ชุดของไหว้ ที่ใช้ในการไหว้เทพเจ้า ประกอบด้วย
      หมู หมายถึงความมั่งคั่ง หมูอ้วนแสดงถึงความกินดีอยู่ดี หัวหมูเป็นสัญลักษณ์แห่งสมองและปัญญา
      ไก่ หมายถึง การตรงเวลา ความรู้งาน ไก่มีหงอนสื่อถึงหมวกขุนนาง แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า นิยมน้ำต้ม (ได้นำแกงต้มไก่ไปทำอาหารอย่างอื่นด้วย) ไหว้แล้วก็เอานึ่งอีกครั้งที่บ้านเอาไปทำข้าวมันไก่
      ตับ ภาษาจีนเรียกว่า กัว ซึ่งพ้องกับคำว่า กัว ที่แปลว่าขุนนาง หมายถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
      ปลา คนจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า ฮื้อ ซึ่งพ้องกับคำว่า ฮื้อ ที่แปลว่าเหลือ มีนัยให้เหลือกินเหลือใช้ นิยมไหว้ด้วยปลากระบอกหรือปลาลี้อือค่ะ เอาไปนึ่งใส่ขิงเห็ดหูหนู ถ้าชอบเผ็ดให้ตำพริก กระเทียมโทน น้ำกระเทียม หรือจะนึ่งบ๊วยหรือซีอิ้วก็อร่อยดีค่ะ
      กุ้งมังกร หมายถึงมีอำนาจวาสนา แต่คนแต้จิ๋วจะเปลี่ยนจากกุ้งมังกรเป็นเป็ด และเปลี่ยนเป็นปลาหมึกแห้ง สำหรับคนจีนแคะ ด้วยเป้นความเชื่อที่ถือกันมาในท้องถิ่นเดิม
       
      ชุดกับข้าว ซึ่งทำไหว้ผีบรรพบุรุษและไว้รับประทานกันเองหลายอย่าง ล้วนมีนัยมงคล เช่น
      ลูกชิ้นปลา แต้จิ๋วออกเสียงว่า ฮื้อ-อี๊ แปลว่า ลูกปลากลมๆ หมายถึงความสามัคคีกลมเกลียว   
      ผัดตับกับกุยช่าย ตับหมายถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน กุยช่าย ออกเสียงเหมือน กุ่ย ซึ่งหมายถึง รวย
      ผัดถั่วงอก หมายถึงความเจริญงอกงาม บ้างก็ว่าเปรียบเหมือนหนวดมังกร สื่อถึงอำนาจวาสนา
      เต้าหู้ ออกเสียงตามสำเนียงจีนว่า โตฟู หมายถึงความสุข
      สาหร่ายทะเล เรียกว่า ฮวกฉ่าย ออกเสียงคล้าย ฮวดใช้ ที่แปลว่าโชคดี ร่ำรวย
      เป็นต้น
                 
      ชุดของหวาน
      ขนมถ้วยฟู คนจีนเรียก ฮวกก้วย ซึ่งแปลว่าขนมแห่งความเจริญงอกงาม
      ขนมคักท้อก้วย คือ ซาลาเปา มีไส้ต่างๆ ซาลาเปานั้น คำว่า เปา หมายถึงห่อ เมื่อมีไส้ที่เป็นมงคล เช่นไส้เต้าหู้ ซึ่งมีความหมายว่า ความสุข ก็จะแปลว่า ห่อความสุขมาให้ ไส้กุยช่าย ซึ่งหมายถึงความร่ำรวยก็หมายถึงห่อเงินห่อทองมาให้
      ขนมซิ่วท้อ เป็นซาลาเปาปั้นเป็นรูปลูกท้อแต้มสีชมพู ท้อเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีอายุยืน
      ขนมไข่ เรียกว่า หนึงก้วย ไข่หมายถึงการเกิดและการเจริญเติบโต
      โหงวเส็กทึ้ง ไทยเรียกขนมจันอับ ประกอบขึ้นจากขนมห้าอย่าง คือถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบ ข้าวพอง ซึ่งหมายถึงความเจริญงอกงาม และฟักเชื่อม ซึ่งหมายถึงความร่ำรวยและความหวานของชีวิต
      เป็นต้น
                     
      ชุดผลไม้ ส่วนมากจะประกอบไปด้วย
      ส้ม แต้จิ๋วเรียก กา แต่จีนกลางเรียก ไต้กิก  ไต้แปลว่า ใหญ่ กิก แปลว่า มงคล
      กล้วย แต้จิ๋วออกเสียงว่า เก็ง-เจีย พ้องกับวลีว่า เก็ง-เจีย-เก็ง-ไล้ แปลว่าดึงโชคเข้ามา กล้วยออกลูกเป็นเครือ สื่อความหมายถึงการมีลูกหลานมาก
      องุ่น ออกเสียงว่า พู่-ท้อ พู่หมายถึง งอกงาม ท้อเป็นชื่อของผลไม้ที่มีความหมายให้อายุยืน
      สับปะรด คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า อั้งไล้ แปลตามตัวว่า เรียกสีแดงเข้ามา สีแดงเป็นสีมงคล จึงถือว่า หมายถึงการเรียกเอาสิริมงคลเข้ามา
      นอกจากนี้ในการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนเรายังพบแต่สีแดง ซึ่งเชื่อว่าเป็นสีแห่งความเป็นมงคล สีขอ งจักรวาล มีการติดแผ่นป้ายเขียนคำมงคลไว้ที่หน้าประตูบ้านเรียกว่า แผ่นตุ้ยเลี้ยง คำมงคลที่เราคุ้นเคยเช่น ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ แปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่ เป็นต้น  การจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดี การเชิดมังกรและสิงโต ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นมงคล  เป็นต้น
      ธรรมเนียมจีนให้ความสำคัญการความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิต มีนัยแห่งการสร้างความเชื่อมั่นเป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิต นับเป็นความชาญฉลาดทางจิตวิทยา อย่างน่ายกย่องของบรรพชน
       
      ฤกษ์ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย ซึ่งเป็นเทพแห่งโชคลาภ 13 เข้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลาที่ใช้ไหว้ในปีนี้คือเวลา 23.00-00.59 น.(ยามชวดห้ามคนปีมะเมียเริ่มพิธี)
       
      ขอบคุณข้อมูลจากคุณจิ๊บและเนชั่นค่ะ

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×